มองมุมใหม่ : ชำนาญ จันทร์เรือง กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
ปัญหาภาคใต้ที่กำลังลุกลามและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบันนี้ ได้สร้างความตื่นตระหนก แก่ประชาชนผู้รักสันติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พร่ำบอกตลอดเวลาว่า “มาถูกทางแล้ว” ก็ไม่บังเกิดผล มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าเห็นใจต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ที่พยายามหาวิธีดับไฟแห่งความรุนแรงนี้ลงให้ได้ ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวความคิดที่เห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการแก้ไขปัญหานี้ โดยนำเสนอแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า
“ประชาธิปไตย” หมายถึง ความเป็นใหญ่ของประชาชน และปวงชนต้องมีสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน
“สามัญชน” หมายถึง ชนจำนวนส่วนมากที่สุดของประชาชน
“อภิสิทธิ์ชน” หมายถึง ชนจำนวนส่วนข้างน้อยที่สุดของปวงชน ได้แก่นายทุน ที่มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ รวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้
“รัฐธรรมนูญ” หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใด ให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชน และจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี 2514 เกี่ยวกับ “เอกภาพของชาติกับประชาชาติไทย” ซึ่งประเสริฐ ชัยพิดุสิต เรียบเรียงไว้ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
1) การรักปิตุภูมิยังมิได้หมดไป ยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกัน หรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกัน กับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง
2) ริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติ หรือท้องที่โดยเฉพาะยังมีอยู่ ดังเช่น ท้องที่ของประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้นๆ พูดไทยไม่ได้ หรือพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยาก คนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องถิ่นหรือสำเนียงตามท้องถิ่นของตน
3) บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะ เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย ประมาณ 6 ปี ภายหลังอภิวัฒน์ (พ.ศ.2475) เจ้าผู้ครองนครลำพูนถึงแก่พิราลัย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่ง และพระยาภูผาราชาแห่งระแงะ สิ้นชีพราวๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังนั้นไม่นาน
4) กลุ่มต่างๆ ภายในชาติหนึ่งๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาแตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติ ก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก
ในประเทศไทย ภายหลังรัฐประหาร (8 พ.ย.2490) รัฐบาลได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอีสานหลายคน มาฟ้องศาลฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีกรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ถูกกักตัวที่พิษณุโลก เมื่อกลับไปปัตตานี ก็คิดแยกดินแดนอีก
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้อง ป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไป เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติไว้
ก) วิธีการของอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลของชนส่วนมากในชาตินั้นๆ คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชน ว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่
ข) วิธีการเผด็จการ เช่น ฮิตเลอร์ หรือ มุสโสลินี ใช้วิธีบังคับแต่ไม่สามารถทำลายจิตใจรักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่างๆ ในเขตนั้นได้
ค) วิธีการของสวิตเซอร์แลนด์ พลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน แยกออกเป็นแขวงๆ แต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐมีรัฐบาลกลางเดียวกัน ไม่ปรากฏว่ามีชนชาติใดในสวิตเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
ง) วิธีประชาธิปไตย ประธานาธิบดีลินคอล์นให้ไว้คือ การปกครองโดย “รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น “เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ
จ) มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยการดำรงชีพอยู่นั้น ย่อมมีจิตใจในทางด้านค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบ พร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน หากเขาไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว ก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่ดีกว่าก็เป็นไป
จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นความเห็นที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2514 แต่ก็ยังไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการของสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งวิถีประชาธิปไตย ของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อว่ามีชนหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสามัญชนที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในส่วนของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ความสำคัญของท่านอยู่ในระดับเดียวกับเมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม หรือเนห์รูของอินเดีย
แต่น่าอนาถที่ท่านต้องจบชีวิตในต่างแดนดั่งผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษ 3 ท่านนั้นได้รับการปลงศพอย่างยิ่งใหญ่ในนามของรัฐ แต่ของไทยเราไม่มีการจัดงานศพ ให้สมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่ผู้นำรัฐบาลไทยไปในงานศพของท่าน
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำก็คือ การนำเอาแนวความคิดของท่านมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เสีย เพื่อที่จะได้เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ และเป็นการสนองคุณต่อผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ดังเช่นมหาบุรุษที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เคยกระทำไว้แก่แผ่นดินไทยในอดีต
*********มุมมองสีเลือดเดียว เมื่อ 11 ส.ค.2555
ปัญหาการเมือง และปัญหาภาคใต้ของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นปัญหาพิเศษ หรือ ปัญหาธรรมดา ที่ไม่มีเกิดขึ้นในโลกนี้ แต่เป็นปัญหาปกติของมนุษย์ที่มีจิตสำนึกรักในชาติพันธุ์เดิมของตนเอง ที่ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก และประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ลุล่วงด้วยดีและยั่งยืนด้วย เพราะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ดังนั้น เมื่อมนุษย์หลายเชื้อชาติ ศาสนา ถูกกำหนดให้มาอยู่ด้วยกันบนพื้นแผ่นดินเดียวกันอาจเต็มใจและไม่เต็มใจ แต่การที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้นั้น ไม่ใช่การใช้กฏหมาย ระเบียบจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเข้าทำนองการเหยียดสีผิว หรือเชื้อชาติ ศาสนา แต่ต้องให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ในความมีจิตสำนึกรักในชาติพันธุ์เดิมของคนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างชาติในปัจจุบันและอนาคต บนความแตกต่างทางความคิด เชื้อชาติ และศาสนา การใช้ 3 สถาบันหลักของชาติ สร้างชาติ นี้ คือ จุดเริ่มต้นของปัญหาภาคใต้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อปีพ.ศ.2475 และเป็นปัญหาควบคู่กันมาจวบจนถึงปัจจุบัน แต่การใช้คำว่า"ชาติ" สร้างชาติ บนความแตกต่างทางความคิด ความมีจิตสำนึกรักในชาติพันธุ์เดิมของคน โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ จึงเป็นการสร้างชาติในเวทีโลก และนำสู่สันติภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น