วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิทักษ์สิทธิ์ พิทักษ์เจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตย (Protect the right , protect democracy intention )



โดย...ชน
 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในความเป็นมาตรฐานของรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ต้องใช้อำนาจอธิปไตย ของตนเอง 1 คน 1 เสียง ในการแสดงความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงจะได้ชื่อว่า          “ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ” เพราะเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย คือ การมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง  แต่รัฐธรรมนูญ ที่ได้มาโดยการรัฐประหาร เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ได้ชื่อว่า “ รัฐธรรมนูญเผด็จการ หรือรัฐธรรมนูญคลุมถุงชน ” ซึ่งเจตนารมณ์ นั้น แน่นอนการมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะทางการเมือง ต้องอยู่ในวงจำกัด  นี้เป็นลักษณะขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ที่บ่งบอกได้ว่ารัฐรรมนูญฉบับใดเป็นประชาธิปไตย ฉบับใดเป็นเผด็จการ หรือ คลุมถุงชน  รัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ลักษณะนี้ นอกจากมีที่มาแตกต่างกันแล้ว  แน่นอนด้านเนื้อหา ก็ย่อมต้องแตกต่างกันไปตามลักษณะเจตนารมณ์ที่เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ดั่งเห็นจากรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 กับ รัฐธรรมนูญ  พุทธศักราช 2550
         หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554  ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด จึงได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารจัดการประเทศชาติ  สิ่งหนึ่งที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ที่นอกเหนือจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม แล้ว คือ นโยบายด้านการเมืองระบอบประชาธิปไตย  โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช  2550   และการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย ที่ยึดถือรัฐธรรมนูญ ภายใต้เจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย เป็นสำคัญ
            การแสดงความไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่การนำความไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคสอง เป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ หรือไม่ นั้น  ผู้เขียนมองว่า รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาจากการรัฐประหาร ถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ  ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย อย่างสิ้นเชิงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  พุทธศักราช 2550 จึงเป็นการแก้ไขระบอบเผด็จการ และแก้ไขเจตนารมณ์ของระบอบเผด็จการ เป็นสำคัญ  ถ้าบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา  68 วรรคสองเป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ  ก็คงหมายความได้ว่า  จะเป็นการตัดสิทธิ์ในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจากรัฐประหาร  เพื่อเป็นการคืนสิทธิ์ในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน สู่ความเป็นประเทศชาติ ที่ได้ชื่อว่า มีความเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ที่สุด  เจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ ถือเป็นความผิดต่อเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย ด้วยหรือ
         ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550  สิ่งสำคัญและจำเป็นไม่ใช่อยู่ที่พรรครัฐบาลเป็นผู้แก้ หรือผู้สร้างดุล และฝ่ายค้านเป็นผู้ต่อต้าน หรือผู้ถ่วงดุล  แต่ความสำคัญและจำเป็นอยู่ที่ทั้งการแก้หรือการสร้างดุล และการต่อต้าน หรือถ่วงดุล ที่จำต้องอาศัยกฎเกณฑ์ต่างๆแห่งจริยธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสากล และเคารพกฎเกณฑ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือทุกชาติ ที่ยังคงมีอธิปไตย ที่จะยังคงความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ จึงจะได้ชื่อว่ามีความตระหนักในสิทธิของประชาชน ในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตย  ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย  และแน่นอนการตระหนักในสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 68 วรรคสอง จึงเป็นเพียงวิธีการยับยั้งเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย อย่างพร้อมสรรพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น